วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

กุยช่าย










ชื่อวิทยาศาสตร์Allium tuberosum Rott-Ler EX Sprengel
ชื่อสามัญChinese chive



ลักษณะกุยช่ายเป็นผักตระกูลเดียวกับหอม การขยายพันธุ์โดยการใช้การแบ่งกอ หรือเพาะเมล็ด หัวกุยช่ายสามารถผลิใบและลำต้นขึ้นมาได้อีกหลังจากตัดเอาส่วนของใบไปบริโภค โดยปล่อยให้ส่วนหัวอยู่ใต้ดิน กุยช่ายเป็นผักที่เจริญเติบโตคล้ายๆกับต้นหอม ใบมีลักษณะแบนยาวสีเขียวเข้ม มีกลิ่นหอม ต้นหนึ่งจะมีใบประมาณ 4 -5 ใบ ต้นสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร สามารถเจริญเติบโตในดินแทบทุกชนิด แต่ชอบดินร่วน มีการระบายน้ำดี กุยช่ายสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี กุยช่ายเป็นพันธุ์ที่มาจากประเทศใต้หวัน มีพันธุ์ก้านดอกยาว พันธุ์ใบใหญ่


คุณค่าทางอาหารต้นกุยช่าย 100 กรัม ให้พลังงาน 28 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย ไขมัน 0.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.1 กรัม แคลเซียม 98 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม เหล็ก 1.5 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 136.79 ไมโครกรัม เส้นใย 3.9 กรัม
ดอกกุยช่าย 100 กรัม ให้พลังงาน 38 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 6.3 กรัม แคลเซียม 31 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม เกล็ก 1.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 13 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 152.92 ไมโครกรัม เส้นใย 3.40 กรัม




การใช้ประโยชน์ทางยา
ต้นและใบ ใช้แก้โรคนิ่ว โดยนำมาดตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าและสารส้มเล็กน้อย กรองเอาน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา เป็นยาแก้หวัด บำรุงกระดูก ทาท้องเด็ก แก้ท้องอืด และแก้ลมพิษ สตรีหลังคลอด หากกินแกงเลียงใบกุยช่ายจะช่วยเพิ่มน้ำนม เมล็ด เป็นยาขับพยาธิเส้นด้ายและพยาธิแส้ม้า นอกจากนี้กุยช่ายยังให้กากอาหาร ช่วยสร้างสมดุลแก่ระบบย่อยอาหาร ช่วยให้ท้องไม่ผูก
- แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม และแก้ท้องผูก โดยใช้ใบสดตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำดื่ม หรือนำไปผัดรับประทาน เพราะกุยช่าย มีใยอาหารมาก จึงช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวได้ดี
- แก้อาการฟกช้ำ โดยใช้ใบสดตำละเอียด แล้วพอกบริเวณที่มีอาการ เพื่อบรรเทาปวดและแก้อาการห้อเลือดได้
- แก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย โดยใช้เมล็ดแห้งต้มรับประทาน หรือจะทำเป็นยาเม็ดรับประทานก็ได้
- รักษาโรคหูน้ำหนวก โดยใช้น้ำที่คั้นได้จากใบสดทาในรูหู
- บำรุงน้ำนม คนไทยโบราณเชื่อว่า แม่ลูกอ่อนกินแกงเลียงใส่ผักกุยช่าย จะช่วยบำรุงน้ำนมได้ดี

ตำรับยาที่ใช้ได้แก่ หากถูกตีฟกช้ำเอากุยช่ายสดตำให้แหลกพอกบริเวณที่เป็นจะสามารถแก้อาการฟกช้ำ ห้อเลือดและแก้ปวดได้ หรือเวลาที่เป็นแผลมีหนองเรื้อรัง ใช้ใบสดๆ ล้างให้สะอาดพอกที่แผล หรืออาจผสมดินสอพอง ในอัตราส่วนใบกุยช่าย ๓ ส่วน ดินสองพอง ๑ ส่วน บดให้ละเอียดจนเหลวข้นแล้วทาบริเวณที่เป็นวันละ ๒ ครั้ง ในกรณีที่บวมฟกช้ำเนื่องจากถูกกระแทก
    ส่วนคนที่เป็นแผลริดสีดวงทวารก็แนะนำให้ใช้ใบกุยช่ายสดๆ ใส่น้ำต้มให้ร้อน จากนั้นนั่งเหนือภาชนะเพื่อให้ไอรมจนน้ำอุ่น หรือใช้น้ำต้มล้างที่แผลวันละ ๒ ครั้ง หรือจะใช้ใบหั่นฝอยคั่วให้ร้อน ใช้ผ้าห่อมาประคบบริเวณที่เป็น จะทำให้หัวริดสีดวงหดเข้า
    นอกจากฤทธิ์ลดการอักเสบและฆ่าเชื้อแล้ว ยังเชื่อว่าถ้าแมลงหรือตัวเห็บเข้าหูให้เอาน้ำคั้นกุยช่ายหยอดเข้าไปในหู จะทำให้แมลงหรือเห็บไต่ออกมาเอง ในกรณีนี้ห้ามใช้นิ้วหรือของแข็งแคะออก
    กุยช่ายยังเป็นสมุนไพรที่ผู้หญิงควรรู้จักสรรพคุณในการใช้เป็นอย่างยิ่ง คือถ้าเมื่อใดมีอาการตกขาว คนจีนแนะนำให้เอาต้นกุยช่าย ไข่ไก่ น้ำตาลอ้อย ต้มรับประทาน เมื่อผู้หญิงเริ่มท้องก็ควรรับประทานใบกุยช่ายผัดกับตับหมู เมื่อท้องมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร เอาน้ำคั้นกุยช่ายครึ่งถ้วยและน้ำขิงอีกครึ่งถ้วยผสมกันและนำไปต้มจนเดือด แล้วเติมน้ำตาลตามใจชอบ ดื่นน้ำยาที่ได้
    ถึงตอนคลอดมีอาการหมดสติเขาจะใช้ใบกุยช่ายสดสับให้ละเอียด ใส่ในเหล้าที่ต้มเดือดแล้วกรอกเข้าไปในปาก หรือเมื่อหลังคลอดมีอาการวิงเวียนจะใช้ใบกุยช่ายสับละเอียดเอาใส่ขวด เติมน้ำส้มสายชูร้อนๆ ลงไปแล้วใช้สูดดมแก้วิงเวียน
    คนไทยเราเองเมื่อคลอดลูกแล้วคนโบราณว่าแม่ลูกอ่อนรับประทานผักหอมแป้น (กุยช่าย) แกงเลียงจะช่วยบำรุงน้ำนม ในกรณีที่มดลูกหย่อนหลังมีลูกก็ให้ใช้ใบสดๆ ประคบหรือเอามาล้างที่อวัยวะเพศภายนอก
    จะเห็นว่าสรรพคุณของกุยช่ายมีมากมายเหมาะกับทั้งท่านชายและท่านหญิง ท่านชายที่มีปัญหาหมดสมรรถภาพทางเพศหรือหลั่งเร็ว กำลังเตรียมจะหาซื้อยาไวอากราก็น่าลองใช้สมุนไพรกุยช่ายดูบ้าง ไม่มีผลข้างเคียงอะไร ทั้งยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย
    หรือท่านหญิงที่กำลังท้องกำลังไส้ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ลองหันมาทำยาแก้แพ้ท้องที่แสนจะปลอดภัยและให้ประโยชน์กันดูบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น