วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

มะเขือพวง






มะเขือพวง มีลักษณะพิเศษบางประการต่างจากมะเขือชนิดอื่น ๆ คือเป็นไม้พุ่มยืนต้นข้ามปี ไม่ใช่พืชล้มลุกเหมือนมะเขือชนิดอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีขนาดใหญ่โตกว่ามะเขือชนิดอื่น ๆ ด้วย เพราะมีทรงพุ่มสูงถึงกว่า 1 เมตร ขึ้นไปถึง 2 เมตรทีเดียว 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum torvum Sw.
วงศ์ SOLANACEAE
ชื่ออื่น ๆ มะเขือพวง (กลาง) มะแคว้งกุลา (เหนือ) หมากแข้ง (อีสาน) มะเขือละคร (โคราช) เขือน้อย เขือพวง ลูกแว้ง เขือเทศ (ใต้) และมะแว้งช้าง (สงขลา)

ลักษณะพฤกษศาสตร์
  มะเขือพวงเป็นไม้พุ่มเตี้ย สูง 1 - 2 เมตร ลำต้นตั้งตรงและแข็งแรง ลำต้นมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ลำต้นและใบมีหนามเล็ก ๆ ห่างขึ้นทั่วไป แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลมริมใบหยักเว้าต้น ใบยาว 4 - 8 นิ้ว ดอกออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกออกเป็นกระจุกมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีเกสรตัวผู้และตัวเมียติดอยู่กับหลอดของกลีบดอก ผลรูปร่างกลม ผิวเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1ซม.ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ

การปลูก
  มะเขือพวงขึ้นเองตามป่าและพื้นที่รกร้าง หรือตามบ้าน เป็นไม้กลางแจ้งและทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

ประโยชน์
  ผลดิบของมะเขือพวงใช้เป็นยาแก้ไอ ขับปัสสาวะ และช่วยย่อยอาหาร การกินผลมะเขือพวงดิบเป็นอาหาร (เช่น ในเครื่องจิ้มชนิดต่าง ๆ) ก็คงมีสรรพคุณทางยาด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนรากของมะเขือพวงใช้รักษาโรคฝ่าเท้าแตก หรือโรคตาปลาในด้านการเกษตร มะเขือพวงนับเป็นมะเขือที่เหมาะกับการเกษตรแบบยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมี (ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช ฯลฯ)เพราะเป็นมะเขือที่ทนทาน แข็งแรง ต้นสูงใหญ่ และอายุยืนหลายปี ไม่ต้องปลูกและดูแลรักษามากเหมือนมะเขือชนิดอื่นการเก็บผลมะเขือพวงใช้แรงงานมาก เพราะผลเล็กอยู่บนต้นขนาดใหญ่ จึงเหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ใช้แรงงานเป็นทุนหลัก ดังจะเห็นว่าในหมู่ชนพื้นเมืองดั้งเดิม เช่น ชาวไทยภูเขาต่าง ๆ นิยมปลูกมะเขือพวงไว้ในระบบเกษตรพื้นบ้าน เช่น วนเกษตรหรือไร่หมุนเวียนในเขตป่าภาคเหนือและภาคตะวันตก สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกผักสวนครัว เอาไว้บริโภคเองในครอบครัวก็อาจปลูกมะเขือพวงเอาไว้สักต้นก็จะเก็บผลไปประกอบอาหารได้นานหลายปี โดยไม่ต้องปลูกใหม่หรือเอาใจใส่มากเท่าพืชหรือมะเขือชนิดอื่น




ประโยชน์ทางยา
ลำต้น สรรพคุณ ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ปวด ฟกช้ำ
ใบ สรรพคุณ ห้ามเลือด แก้ฝีบวม มีหนอง
ผล สรรพคุณ ขับเสมหะ
าก รักษาแผลแตกบริเวณเท้า รากยังใช้ผสมเป็นยาแก้ไข้ ขับเสมหะ

สรรพคุณ
ทั้งต้น ใบ และผล รสจืด เย็นและมีพิษเล็กน้อย ทำให้เลือดหมุนเวียนดี แก้ปวด ฟกช้ำ ตรากตรำทำงานหนัก กล้ามเนื้อบริเวณเอวฟกช้ำไอเป็นเลือด ปวดกระเพาะ ฝีบวมมีหนองและอาการบวมอักเสบ ราก ใช้พอกเท้าแตกเป็นร่องเจ็บ

รสและประโยชน์ต่อสุขภาพ
รสขื่น แก้ไอ ขับเสมหะ มะเขือพวง 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 46 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยเส้นใย 6.1 กรัม แคลเซียม 158มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 110 มิลลิกรัม เหล็ก 7.1 มิลลิกรัม วิตามินเอ 554 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.17 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัมไนอาซิน 2.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 4 มิลลิกรัม

การปรุงอาหาร
ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด หรือลวกแกล้มกับน้ำพริก ผลอ่อนใช้ใส่อาหารหลายชนิด เช่น แกงจืด น้ำพริกกะปิ แกงเขียวหวาน เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น